การศึกษาไทย

๑ ในพระราชดำริ | ปรับเปลี่ยนเรียนรู้ สู่การศึกษาในโลกใหม่

เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564

รายการ ๑ ในพระราชดำริ โดย เมษนี สถาวรินทุ (ครีเอทีฟ) เป็นสารคดีที่นำเสนอผลงานของผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และนำความรู้ความสามารถกลับมาสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการศึกษา

การมีพื้นฐานการศึกษาและนวัตกรรมการศึกษาที่ดีจะเป็นดัง “คันเร่ง” ให้แก่เยาวชนไทย สำหรับการเดินหน้าปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่ “ผู้นำทางการศึกษา” จึงเป็นดัง “กุญแจเดินเครื่อง” ปฏิรูปพัฒนาการศึกษา ทั้งการบริหารจัดการ สร้างกฎกติกา และการประเมินผลให้สอดคล้องเท่าทันโลก

ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย และผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ปี 2549 กล่าวว่ามูลนิธิฯ ต้องการสร้างความ “ตื่นรู้” ให้แก่สังคมไทย โดยเฉพาะการผลักดันให้ผู้นำประเภทต่างๆ กลายมาเป็น “ผู้นำทางการศึกษา” คือผู้ที่มุ่งเน้นให้กระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจของการพัฒนา ยึดมั่นในหลัก 3 ประการคือ “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นแก่นสาร และการเรียนรู้เป็นเป้าหมาย” มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานต่อจากงานวิจัยของ Prof. Dr. Philip Hallinger (ศ.ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์) นักวิชาการผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในด้านการศึกษา ผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องผู้นำทางการศึกษาในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี มูลนิธิฯ ได้ข้อบ่งชี้ที่น่าสนใจว่าแม้ว่าคนไทยจะมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่การศึกษาไทยยังคงย่ำอยู่กับที่เนื่องจากผู้นำทั้งหลายในประเทศยึดถืออำนาจ การเติบโต การไขว่คว้าไต่เต้าสู่ตำแหน่งของตนเองเป็นแกนหลักในการทำงาน นอกจากนั้น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษายังกลายเป็นเสมือน “กับดักการพัฒนา” เพราะนโยบายเหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้เกิดการกระจายอำนาจขึ้นจริง โดยเฉพาะในด้านการกระจายงบประมาณลงสู่กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่านโยบายการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก นั่นคือ การเข้าถึงการศึกษาของนักเรียน คุณภาพการศึกษาหรือคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน และประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ ซึ่งกล่าวได้ว่าสิ่งที่เป็นปัญหามาตลอดสองทศวรรษนี้คือสองประเด็นหลัง เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรลดลง แต่เรามีโรงเรียนจำนวนมาก งบประมาณที่ใช้กับบุคลากรทางการศึกษาจึงไม่สอดคล้องกับคุณภาพการศึกษาที่เป็นผลลัพธ์ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้อำนวยการสถานศึกษาในปัจจุบันยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานวิชาการเท่าที่ควร โดยมากยังเข้าใจผิดว่าคะแนนสอบ O-Net หรือรางวัลจากการแข่งขันต่างๆ ของนักเรียนนับเป็นความสำเร็จทางวิชาการแล้ว ดังนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดนโยบายให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องสอนหนังสือ เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนของตนและเข้าใจมุมมองของเด็ก โดยส่วนตัวแล้วคาดหวังให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นในส่วนการบริหารจัดการของผู้อำนวยการสถานศึกษาก่อน ให้ได้มีโอกาส “คัดเลือกครู” และให้ได้ “งบประมาณเป็นเงินก้อน” สำหรับจัดสรรไปยังส่วนต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของโรงเรียนมากที่สุด

ดร.รัตนา กล่าวเพิ่มเติมว่าการกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรในด้านการศึกษาให้เสมอภาคเท่าเทียมกันนับเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทย มูลนิธิฯ หวังว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะรวมกันเป็นพลังบวกที่ช่วยปลด “กับดักการพัฒนา” การศึกษาไทยได้อย่างแท้จริง