โรงเรียนดีมีทุกที่

๑ ในพระราชดำริ | โรงเรียนดีมีทุกที่ พลังเครือข่าย พลังสร้างสุข

เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2565

รายการ ๑ ในพระราชดำริ โดย เมษนี สถาวรินทุ (ครีเอทีฟ) เป็นสารคดีที่นำเสนอผลงานของผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และนำความรู้ความสามารถกลับมาสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการศึกษา

โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คนถูกจัดให้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีมากกว่า 15,000 แห่ง น่าตกใจว่านับเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ละโรงเรียนจำเป็นต้องฝ่าฟันต่อสู้บนเส้นทางที่ยากลำบาก โดยมีชุมชนใกล้เคียงช่วยเหลือสนับสนุนให้ยังคงยืนหยัดอยู่เป็นที่พึ่งทางการศึกษาของเด็กๆ ในชุมชนได้ต่อไป โรงเรียนเหล่านี้จึงมีความสำคัญในฐานะที่ช่วยเชื่อมร้อยวิถีวัฒนธรรมวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่กับคนรุ่นใหม่สืบเนื่องไปในกระแสโลกาภิวัตน์ ดังเช่นโรงเรียนบ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม หนึ่งใน “โรงเรียนดีมีทุกที่” ที่เป็น “ทรัพยากรที่สำคัญของหมู่บ้าน” สืบทอดหล่อหลอมพัฒนาความเป็นชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น

ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย และผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2549 กล่าวว่าโรงเรียนบ้านกำพี้ฯ เป็นโรงเรียนเข้มแข็งที่มีชุมชนให้การสนับสนุนการเรียนการสอนทุกด้าน มุ่งเน้นให้ลูกหลานอ่านออกเขียนได้ ด้วยความสามัคคีแน่นแฟ้นระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน (บ ว ร) ครูผู้บริหาร ล้วนช่วยกันสร้างหลักสูตรการศึกษาที่มีทักษะอาชีพ จินตคณิต และกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยสร้างศักยภาพให้แก่เยาวชนในพื้นที่ กลายเป็นตัวอย่างนวัตกรรมวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ให้แก่โรงเรียนอื่นได้

สุภาพร ลามะให ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่าโรงเรียนฯ เปิดทำการสอนในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จึงมีความจำเป็นที่ชุมชนจะต้องช่วยสนับสนุนโรงเรียน กลายเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่จะช่วยทลายข้อจำกัด สร้าง 4M (Man, Money, Material and Management) เพื่อเป็นหลักการบริหารและวางแผนการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพบนความขาดแคลนงบประมาณจากส่วนกลาง นอกจากนั้น ทางโรงเรียนยังได้เน้นการปลูกฝังทักษะอาชีพ สร้างทักษะชีวิตให้แก่เด็กทุกคน โดยได้รับความช่วยเหลือจากโรงเรียนสารคามพิทยาคม นำพาพี่ระดับชั้นมัธยมศึกษามาร่วมทำกิจกรรมกับน้องๆ สร้างความสัมพันธ์อันดีในชุมชน ทั้งยังช่วยจุดประกายความบันดาลใจให้แก่เด็กๆ ใฝ่เรียนใฝ่รู้ได้ร่วมกัน ในขณะที่ครูก็ได้ส่งเสริมให้ได้เรียนรู้ทักษะเทคโนโลยีและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ให้กลายเป็นผู้นำการศึกษา ทั้งทางดาวเทียม ทางออนไลน์ และทางความรู้คู่คุณธรรม เนื่องจากโรงเรียนให้ความสำคัญกับจริยธรรมควบคู่ไปกับวิชาการ ต้องการสร้างเด็กที่เป็นคนดี มีความสุข มีทักษะ รู้จักวิธีแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

ทุกวันนี้ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน ทุกประสบการณ์ ทุกการใช้ชีวิตคือการเรียนรู้ คือองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ ที่เป็นสิ่งใหม่ รอการสัมผัส รอการแสวงหาและต่อยอด เพื่อพัฒนาตนเองให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สำหรับประเทศไทย การก้าวพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง คือการสามัคคีกันในทุกภาคส่วนเร่งพัฒนาการศึกษา กระจายอำนาจให้ทรัพยากร งบประมาณ บุคลากรครูที่พอเพียงแก่ทุกโรงเรียน ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนขนาดเล็ก ให้ได้บริหารจัดการสร้างความเข้มแข็งในแบบวิถีท้องถิ่นของตนเอง มีผู้นำทางการศึกษาที่เป็นผู้นำทางวิชาการ ทุกโรงเรียนสามารถเป็น “โรงเรียนดีมีทุกที่” ได้ เด็กไทยจะได้มีทักษะการอ่านออกเขียนได้ (Literacy) ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสร้างความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ แยกแยะและประยุกต์ใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการดำรงชีวิต ร่วมนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จอย่างมั่นคงยั่งยืน