บทนำ

ลองสำรวจความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานและถามพวกเขาว่า ในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา สร้างแรงจูงใจให้ครู ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน และบรรลุวิสัยทัศน์ภายในแผนกหรือหน่วยงาน พวกเขาต้องการสิ่งใด ‘มากขึ้น’ รับรองได้เลยว่า เกือบทุกคนจะตอบว่า พวกเขาต้องการเวลา พวกเขาก็เหมือนท่าน ที่ได้ตระหนักว่าเวลานั้นเป็นทรัพยากรที่มีค่าและหายากไม่แตกต่างจากเงิน ที่ทำให้ผู้คนเต็มใจรับผิดชอบงานเพิ่มเติมได้ พวกเขาทราบว่าการเป็นผู้นำเป็นเรื่องของการบริหารคนเพื่อทำให้งานสำเร็จ และการที่จะทำเช่นนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต้องอาศัยการจัดระเบียบตัวเอง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการจัดการเวลาเป็นอย่างมาก

ในการพัฒนาทักษะการบริหารเวลาในระดับสูง ผู้นำระดับกลางจำเป็นจะต้องมีระบบหรือแผนที่ช่วยลดเวลาที่พวกเขาใช้ในงานเล็ก ๆ หรืองานที่ไม่สำคัญ เพื่อเพิ่มเวลาให้ทำงานที่สำคัญต่อตัวท่านเองและต่ออาชีพ ความซับซ้อนในแง่ของการปฏิรูปโรงเรียนที่เปลี่ยนรูปแบบอย่างรวดเร็วนั้นต้องอาศัยการบริหารเวลาเพื่อพิจารณาและวางแผนว่าจะทำอย่างไรจึงจะเกิดผลสูงที่สุด ปัจจัยดังกล่าวสำคัญเนื่องจากเราต้องแน่ใจว่าเรามีเวลาส่วนตัว ขั้นตอนแรกในการจัดการเวลาคือการกำหนดหรือชี้แจงว่าท่านต้องการบรรลุอะไรในวิชาชีพ ในแง่ของวิสัยทัศน์และเป้าหมาย เมื่อกำหนดได้แล้ว สิ่งสำคัญคือท่านต้องหาวิธีจัดการเวลาให้ดีขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า การใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ และเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบเวลาให้ดีขึ้น ในบทนี้เราจะสมมุติว่าท่านได้ชี้แจงเป้าหมายของท่านในฐานะผู้นำแล้ว ในภาพรวม เราจะเน้นกลยุทธ์เชิงปฏิบัติที่สามารถช่วยจัดระเบียบและบริหารเวลาของท่านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ภายหลังจากจบบทนี้ ท่านจะได้:
  • สำรวจแนวทางที่ใช้ควบคุมและเพิ่มเวลาของท่านให้ได้มากที่สุด
  • คิดอย่างรอบคอบว่าท่านใช้เวลาอย่างไรในปัจจุบัน
  • ท้าทายตัวเองโดยการลดปัจจัยที่ ‘ขโมย’ เวลาของท่าน
  • พิจารณาวิธีต่าง ๆ เพื่อให้สามารถจัดการเวลาได้ดีขึ้น

การบริหารเวลา: รายละเอียดที่จำเป็นต้องพิจารณา

ก่อนที่เราจะเริ่มการอภิปราย โปรดใช้เวลาสั้น ๆ เพื่อตอบแบบสอบถามด้านล่าง แบบสอบถามนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ท่านสามารถเริ่มออกแบบว่าท่านควรใช้เวลาอย่างไร

เกณฑ์การให้คะแนน:
ถ้าหากท่านตอบว่า ‘ใช่’ ในข้อ 8, 9, 10, 18, 19 และ 20 และตอบว่า ‘ไม่ใช่’ ในประเด็นอื่น ๆ แสดงว่าท่านจัดการเวลาได้ดีเลยทีเดียว ถ้าหากท่านตอบว่า ‘ไม่ใช่’ ในข้อข้างต้น และตอบว่า ‘ใช่’ ในประเด็นอื่น ๆ แสดงว่าท่านกำลังเสียเวลามากพอสมควร
ลำดับ
ประเด็น
ใช่
ไม่ใช่
1
ฉันมีความจำที่ดีเยี่ยม ฉันไม่เคยจดบันทึกอะไรเลย
2
ฉันแทบไม่เคยทิ้งอะไรเลย เพราะฉันไม่รู้ว่าฉันต้องใช้ในวันหลังหรือไม่
3
ฉันรู้สึกเหมือนกับคุยโทรศัพท์ไม่จบไม่สิ้นสักที คุยเรื่องหนึ่งเสร็จก็ต้องต่อด้วยเรื่องอื่น
4
ฉันไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ฉันยุ่งเกินไป
5
ฉันจะมีเวลาให้ครูและนักเรียนอยู่เสมอ พวกเขาสามารถมาพบฉันได้ตลอดเวลา
6
ฉันไม่เคยขอให้ครูทำงานที่ยาก ฉันคิดว่าฉันลงมือทำเองแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
7
เมื่อฉันเป็นผู้คุมการประชุม ฉันมั่นใจว่าทุกคนจะได้ออกความคิดเห็น ฉันไม่สนใจว่าการประชุมจะยาวขึ้น
8
ฉันพกปฎิทินเพื่อติดตามว่าฉันควรจะอยู่ที่ไหน เป็นเวลาเท่าใด
9
ฉันมักทิ้งงานไว้จนนาทีสุดท้าย ฉันทำงานได้ดีขึ้นเมื่อมีแรงกดดัน
10
ฉันกันเวลาไว้ในทุก ๆ สัปดาห์เพื่อทบทวนสิ่งที่สำคัญสำหรับงาน
11
โต๊ะของฉันเต็มไปด้วยงานที่ฉันต้องทำ
12
ฉันภูมิใจในงานของฉัน ฉันไม่เคยละทิ้งงานใด ๆ จนกว่ามันจะสมบูรณ์แบบ
13
ฉันชอบที่จะชะลอการตัดสินใจ เพื่อให้มีเวลาคิดมากขึ้น ฉันไม่ต้องการให้ผิดพลาดเพราะความรีบเร่ง
14
ฉันยุ่งซะจนแทบไม่มีเวลาออกไปกับครอบครัวหรือเพื่อน นี่เป็นราคาของความสำเร็จ
15
ถ้าฉันไม่ชอบงานใดเป็นพิเศษ ฉันมักจะทิ้งมันไว้ก่อน
16
ฉันมีงานที่จะต้องทำเยอะจนบางครั้งฉันก็ไม่ได้ทำอะ
17
ฉันใช้เวลาส่วนมากในการเดินไปมา และพักดื่มกาแฟ
18
ฉันพยายามที่จะจัดการจดหมายแต่ละชิ้นเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น
19
ฉันตั้งกำหนดส่งสำหรับตัวเองและเคร่งกับกำหนดการนั้น
20
ฉันมีเวลาที่จะผ่อนคลายและใช้กับเพื่อนและครอบครัว

หลัก Five A’s: แบบแผนเพื่อบริหารเวลาให้ดียิ่งขึ้น

ผู้สนับสนุนการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมักจะกล่าวอ้างว่า การบริหารเวลาที่ดีจะทำให้ชีวิตของท่านง่ายขึ้น ลดความตึงเครียด เพื่อประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิผล เพิ่มความพึงพอใจในงาน เพิ่มผลผลิตส่วนบุคคลและองค์กร และสร้าง ‘เวลาส่วนตัว’ ให้ท่านมากขึ้น ทว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราสามารถใช้เวลาที่เหลือจากการจัดการเวลาอย่างรอบคอบกับสิ่งที่สำคัญสำหรับโรงเรียน อีกทั้งยังสามารถเพิ่มเวลาส่วนตัวให้กับท่านและคนในครอบครัว แต่ก่อนที่จะเกิดประโยชน์ได้ เราต้องสำรวจการใช้เวลาให้ดีเสียก่อน ขอนำเสนอหนึ่งแนวทางในการจัดการเวลา หรือหลัก Five A’s แห่งการบริหารเวลา นั่นเอง

หลัก Five A’s
เป็นแนวทางแบบลำดับขั้นในการจัดการเวลาของท่าน

Aware: การตระหนักรู้
ขั้นตอนแรกเป็นการขอให้ท่านพิจารณาปัจจัยที่สำคัญสำหรับตัวท่านเอง ทั้งในด้านส่วนตัวและด้านการงาน ขั้นตอนนี้จะช่วยให้ท่านสามารถตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมเพื่อสะท้อนถึงปัจจัยเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ ขั้นตอนนี้ยังขอให้ท่านพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เวลาของท่าน ไม่ว่าจะเป็น นิสัย พฤติกรรม วิธีการสื่อสาร และความรับผิดชอบในงาน กุญแจสำคัญสำหรับขั้นตอนนี้คือการหาว่าท่านให้ความสำคัญกับสิ่งใด

Analysis: การวิเคราะห์
หากท่านประสงค์ที่จะปรับปรุงการใช้เวลาของตัวเอง ท่านต้องพิจารณารายละเอียดว่าท่านกำลังใช้เวลาอย่างไรในปัจจุบัน หรือเสี่ยงที่จะเสียเวลาไปเรื่อย ๆ การวิเคราะห์ว่าท่านสามารถทำอะไรได้จะช่วยให้ท่านระบุสิ่งที่ท่านสามารถปรับเปลี่ยน เพื่อให้ใช้เวลาได้ดียิ่งขึ้น

Attack: การโจมตี
แน่นอนว่าการวิเคราะห์การใช้เวลาจะช่วยให้ท่านเห็นหลายกิจกรรมที่ทำให้ท่านเสียเวลาไปในตัว ซึ่งท่านจำเป็นจะต้องกำจัด ‘ผู้ขโมยเวลา’ เหล่านี้ทิ้งไป เพื่อให้ท่านสามารถจดจ่อกับสิ่งที่สำคัญต่อท่านจริง ๆ

Assign: การจัดสรร
ในระหว่างที่กำจัด ‘ผู้ขโมยเวลา’ ท่านจำเป็นจะต้องจัดลำดับความสำคัญให้กับงานที่ท่านยังต้องรับผิดชอบอยู่ ท่านจำเป็นจะต้องทำเช่นนี้เป็นประจำ 

Arrange: การจัดการ
ขั้นตอนสุดท้ายเกี่ยวข้องกับการจัดเวลาอย่างมีจุดมุ่งหมาย นั่นคือ การคำนึงถึงวิธีที่จะพัฒนา “ทักษะเล็กน้อยเหล่านี้” ต่อเนื่องเป็นประจำ เพื่อให้ท่านสามารถกลับมาควบคุมเวลาได้อย่างแท้จริง การจะทำเช่นนี้ได้ต้องอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบ

หากใช้งานอย่างถูกต้อง การทำงานผ่าน Five A’s จะสามารถช่วยให้ท่านบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น มาดูรายละเอียดของแต่ละขั้นตอน ดังต่อไปนี้
image

การตระหนักรู้

ก่อนที่ท่านจะสามารถพัฒนาทักษะการบริหารเวลาได้ ท่านจำเป็นต้องตระหนักถึงหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับตัวท่านเองเสียก่อน ขั้นตอนแรกคือ ท่านต้องสามารถระบุค่านิยมและเป้าหมายอย่างตั้งใจ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและในการทำงาน สิ่งที่ท่านกำลังจะทำ และเป้าหมายที่ท่านอยากจะเป็น ขั้นตอนที่สองคือ ท่านต้องพึงตระหนักถึงนิสัย พฤติกรรม บุคลิกภาพ ความรับผิดชอบส่วนบุคคลและในการทำงาน ค่านิยม และรูปแบบการสื่อสารของตัวเอง การตระหนักในสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ท่านรู้ถึงเหตุผลว่าท่านทำอะไรลงไปเมื่อใด และมีปัจจัยใดบ้างที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของท่าน ภูมิปัญญาทั่วไปชี้ให้เห็นว่าการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพเกิดจากการควบคุมสองรูปแบบ ได้แก่ การควบคุมตนเอง และ การควบคุมงาน การควบคุมตนเองเกิดขึ้นจากความรู้ในตัวของท่านเอง ไม่ว่าจะเป็น จุดแข็ง จุดอ่อน ประเภทของบุคลิกภาพ และการที่ท่านมองเห็นภาพรวมหรือรายละเอียดปลีกย่อย เป็นต้น การควบคุมงานอาศัยความรู้เกี่ยวกับงาน ซึ่งได้แก่ โรงเรียน และบทบาทของท่านภายในโรงเรียน ท่านต้องตระหนักถึงเป้าหมายหลักของโรงเรียน เนื่องจากค่านิยมของท่านในฐานะผู้นำ จะถูกวัดจากสิ่งนี้ นอกจากนั้น ความรู้เกี่ยวกับเป้าหมายหลักจะช่วยให้ท่านสามารถกำหนดและชี้แจงบทบาทและขอบเขตของความรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น

ในการเรียนรู้ด้วยตัวท่านเองจากบทเรียนเหล่านี้ ท่านจะมีโอกาสลองตั้งเป้าหมายและอภิปรายถึงสิ่งที่สำคัญกับท่านในแง่ของการเรียนรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอ 

ขั้นตอนของการตระหนักรู้นั้นเกี่ยวเนื่องกับการลงรายละเอียดในสิ่งที่ท่านเชื่อและสิ่งที่ท่านต้องการบรรลุ ท่านจะสามารถระบุสิ่งที่ท่านต้องการบรรลุผ่านการตั้งเป้าหมายได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การตั้งเป้าหมายจะช่วยให้ท่านสามารถกำหนดสิ่งที่สำคัญต่อท่าน การระบุเป้าหมายอย่างแม่นยำไม่ใช่เรื่องง่าย และโดยปกติแล้ว ท่านจะมีภาพคร่าว ๆ ว่าเป้าหมายจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ท่านจะต้องแน่วแน่ในการ ‘ขุด’ มันออกมาจากความคิด ประเด็นต่อไปนี้อาจช่วยให้ท่านกำหนดและตั้งเป้าหมายได้

ให้ความสำคัญ/ลำดับความสำคัญ
แยกเป้าหมายส่วนตัว เป้าหมายทางวิชาชีพ (งานหรือธุรกิจ) และเป้าหมายทางครอบครัว ออกจากกัน

ใช้ประสบการณ์ในอดีต
คิดถึงสิ่งที่ท่านเคยทำหรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ทำให้ท่านรู้สึก ‘ดี’ เช่น ความรู้สึกตอนที่ท่านประสบความสำเร็จบางอย่าง

มีความสมจริง
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้นั้นอยู่ในความเป็นจริง

ก้าวข้ามข้อจำกัด
แม้ว่าเป้าหมายบางข้ออาจอยู่ในความเป็นจริง แต่ก็มีเป้าหมายอื่น ๆ ที่ตั้งไว้ต่ำเกินที่จะท้าทายท่าน

มีความเจาะจง
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป้าหมายของท่านมีความเฉพาะเจาะจงและกำหนดวันเสร็จสิ้นไว้ ลองคิดดูว่าท่านจะบรรลุเป้าหมายอย่างไร และวางแผนเพื่อทำให้มันสำเร็จ

เขียนมันลง
จงเขียนเป้าหมายของท่านเป็นลายลักษณ์อักษร – เป้าหมายจะมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยในการวางแผนหากไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ท่านอาจลองตั้งคำถามเพื่อสำรวจถึงสิ่งที่สำคัญสำหรับท่านในการทำงาน โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • ฉันต้องรับผิดชอบผู้ใดบ้าง?
  • ฉันมีความรับผิดชอบต่อพวกเขาอย่างไร?
  • ฉันบริหารทรัพยากรและงบประมาณของตัวเองได้หรือไม่
  • กิจกรรมด้านหลักของฉันคืออะไร?
  • ฉันมีหน้าที่ทางการบริหารและกิจวัตรที่ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง?
  • ฉันมีความรับผิดชอบในการติดต่อกับบุคคลภายนอกโรงเรียนมากน้อยเพียงใด?
  • ฉันถูกคาดหวังให้สร้างนวัตกรรมหรือไม่?
  • ฉันมีอำนาจหน้าที่ในการทำอะไรบ้าง?
  • ครูผู้สอนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง
  • ผู้บริหารอาวุโสของฉันรับผิดชอบอะไรบ้าง
  • พันธกิจของโรงเรียนมีอะไรบ้าง
  • งานของฉันมีความคาดหวังที่ไม่ได้ระบุไว้หรือไม่


อิทธิพลต่อการใช้เวลา ‐ ปัจจัยอื่น ๆ
มีการแสดงตัวอย่างของวิธีการทำงานด้านล่าง โดยมีการประเมินผลกระทบต่อเวลาของผู้นำระดับกลาง

ตัวอย่าง

วิธีการทํางาน
การให้ครูสามารถเปิดประตูเข้ามาปรึกษาได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีเรื่องอะไร

ผลกระทบต่อการใช้เวลา
ท่านจะถูกรบกวนอยู่เสมอ ทําให้ไม่สามารถ จดจ่อกับการทํางานโครงการหนึ่งได้เป็นระยะเวลานาน เสียสมาธิ
image

การวิเคราะห์

เมื่อท่านได้ชี้แจงและจดบันทึกเป้าหมายของท่านแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการลงมือวิเคราะห์ว่าท่านใช้เวลาอย่างไร ท่านจำเป็นจะต้องรู้ว่าท่านใช้เวลาอย่างไรก่อนที่ท่านจะสามารถควบคุมมันได้ แน่นอนว่าประโยคนี้ฟังดูเป็นคำกล่าวที่ง่าย แต่น่าแปลกใจที่ผู้นำหลายคนไม่สามารถให้รายละเอียดได้ว่าใช้เวลาอย่างไรภายในหนึ่งวันหรือหนึ่งสัปดาห์ เป็นสิ่งสำคัญที่ท่านจะต้องรู้ว่าตัวเองใช้เวลาอย่างไร นอกจากนั้น ความสามารถในการวิเคราะห์เวลาที่ใช้ไปยังมีความสำคัญอีกด้วย โดยท่านควรแบ่งเวลาในหนึ่งวันเป็นช่วง ๆ และพิจารณาเวลาที่ใช้ไป พร้อมถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง ฉันควรใช้เวลาเท่าใดในการประชุม ฉันใช้เวลาเพื่อทำงานของคนอื่นนานเพียงใด

ขั้นตอนแรกของท่านคือการค้นหาสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้

การติดตามเเหมือนเป็นเงา
ขอให้ใครสักคนติดตามท่านไปรอบ ๆ ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งมักจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะช่วงเวลานาน การขอให้ใครสักคนใช้เวลาครึ่งวันกับท่านก็น่าจะทำให้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง ขอให้คนนั้นช่วยสังเกตและจดบันทึกทุกสิ่งที่ท่านทำ

การจดบันทึก/การสังเกตตนเอง
สำหรับวิธีนี้ ท่านจำเป็นจะต้องติดตามตัวท่านเองเหมือนเป็นเงา ท่านต้องวิเคราะห์พฤติกรรมของท่านทุก ๆ ห้า สิบ สิบห้า หรือสามสิบนาที

เมื่อท่านได้บันทึกวิธีการใช้เวลาของท่านแล้ว ท่านต้องวิเคราะห์สิ่งที่ท่านทำลงไป ท่านอาจถามคำถามกับตัวเอง ดังคำถามแนะนำที่แสดงไว้ด้านล่างนี้ 

  • กิจกรรมที่สร้างสรรค์ใดที่กินเวลาส่วนใหญ่ของฉัน
  • กิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ใดที่กินเวลาส่วนใหญ่ของฉัน
  • มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ใดที่ไม่คุ้มกับเวลาที่ฉันใช้ไปบ้าง
  • มีกิจกรรมใดที่คุ้มค่ามากกว่าเวลาที่ฉันลงมือทำบ้าง
  • ช่วงเวลาไหนเป็นช่วงเวลาที่ฉันยุ่งที่สุดของวัน


นอกจากการถามคำถามเหล่านั้นแล้ว ท่านยังสามารถทำการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้นได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพิจารณาตารางด้านล่างของลลิษา ที่ได้แบ่งวันของเธอออกเป็น 4 หมวดหมู่ หลังจากได้จดบันทึกในสิ่งที่ทำเป็นระยะเวลาหลายวัน เธอไล่ดูกิจกรรมแต่ละอย่างของตัวเองและได้จัดแต่ละกิจกรรมลงหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง (แน่นอนว่าหากต้องการ ท่านสามารถสร้างสรรและกำหนดหมวดหมู่ที่เหมาะสมกับตัวของท่านเองโดยเฉพาะ)

ความเป็นมืออาชีพ (P)
กิจกรรมที่สำคัญภายใต้บทบาทผู้นำของท่าน อาจเกี่ยวข้องกับการสังเกตการเรียนการสอน การประชุมทีมบริหารหลักสูตร เวลาเงียบ ๆ ของท่านที่ใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ในอนาคตของโรงเรียน การพูดคุยงานกับหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ หรือการเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการทางวิชาชีพ กิจกรรมในหมวดนี้ค่อนข้างกว้าง และมักจะออกแบบมาเพื่อให้ได้ข้อมูลในขณะที่ท่านใช้เวลากับกิจกรรมทางวิชาชีพที่มีส่วนในการยกระดับการเรียนรู้และชีวิตของนักเรียนและครู 

วิกฤตการณ์ (C)
กิจกรรมที่ต้องลงมือทำทันที ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายในโรงเรียน เช่น ความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือการตัดสินใจในภาวะวิกฤต

กิจวัตร (R)
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการงานปกติในแต่ละวัน เช่น การติดต่อสื่อสาร การโทรศัพท์ และการกำกับดูแลงานที่กำลังดำเนินอยู่

งานส่วนตัว (I)
กิจกรรมใด ๆ ที่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์จากที่บ้านหรือการพักดื่มกาแฟ

เมื่อได้วิเคราะห์แล้ว ท่านต้องจัดลำดับความสำคัญให้กับสิ่งที่ท่านทำ อีกทั้งยังต้องระบุและเล่นงานกิจกรรมหรือการกระทำที่ทำให้ท่านเสียเวลาอันมีค่าไป หากท่านใช้สมุดจดบันทึก แบบที่อยู่ใน Microsoft Outlook ท่านอาจใช้มันช่วยวิเคราะห์เวลาของท่านโดยการจัดเป็นหมวดหมู่ตามที่ต้องการ
การวิเคราะห์หนึ่งวันของลลิษา

หมวดหมู่
จํานวนพฤติกรรม
ระยะเวลา (นาที)
เวลาทั้งหมด %
ความเป็นมืออาชีพ
7
139
27.5
งานเร่งด่วน
5
41
8.1
งานจําเจ
25
165
32.6
งานส่วนตัว
11
161
161
image

การมอบหมาย

เมื่อท่านได้วางแผนการใช้เวลาแล้ว ให้พิจารณาการกระทำของท่านตามหมวดหมู่ดังต่อไปนี้

  • การควบคุมได้ / การริเริ่ม
  • ความสำคัญ
  • ความเร่งด่วน
  • การมอบหมายให้ผู้อื่นทำแทน


การควบคุม / การริเริ่ม
ถามตัวท่านเองว่า มีกี่กิจกรรมที่ท่านสามารถควบคุมได้ มีกิจกรรมไหนบ้างที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานและต้องทำให้เสร็จ หากท่านใช้เวลามากเกินไปกับกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานของท่านโดยตรง หรือใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่ผู้อื่นสามารถทำได้ ท่านอาจกำลังเสียเวลาเปล่า มีกิจกรรมกี่กิจกรรมที่ท่านริเริ่มด้วยตัวของท่านเอง มีกิจกรรมกี่กิจกรรมที่ริเริ่มโดยคนอื่น ใช้ภาพด้านล่างเพื่อช่วยกำหนดการควบคุมและการริเริ่ม จงให้คะแนนกับการควบคุมและการริเริ่มของตัวท่านเอง (0-6)

ความสำคัญ
ท่านยังสามารถให้คะแนนกับความสำคัญของกิจกรรม ว่าเป็นกิจกรรมที่ ‘สำคัญมาก’ หรือ ‘ไม่สำคัญ’ ความสำคัญหมายถึง ผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจหรือกิจกรรม หากท่านใช้เวลากับกิจกรรมที่ไม่มีความสำคัญต่อเป้าหมายและความรับผิดชอบหลักของท่าน ท่านอาจกำลังเสียเวลาเปล่า กฎของพาเรโต (Pareto’s Law) หรือกฎ 80/20 ถือว่ามีเพียงร้อยละ 20 ของเวลาของผู้บริหารเท่านั้นที่จะสร้างผลลัพธ์ ในขณะที่อีกร้อยละ 80 ของเวลามักถูกนำไปใช้กับ ‘สิ่งเล็กน้อย’ อันไร้โครงสร้าง ความสำคัญของกิจกรรมคือ ความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการงาน อาชีพ หรือเป้าหมายส่วนตัว งานที่มีความสำคัญมาก ๆ ท่านควรได้รับความสนใจอย่างเร่งด่วนและตั้งอกตั้งใจ

ความเร่งด่วน
พิจารณาว่ามีความเร่งด่วนในการลงมือทำหรือไม่ ท่านจำเป็นจะต้องลงมือทำตอนนี้เลยหรือไม่ ความเร่งด่วนหมายถึง ความกดดันด้านเวลาในการทำงานให้เสร็จ หากรอลงมือในโอกาสหน้าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นหรือไม่ การแยกแยะระหว่างงานที่เร่งด่วนกับงานที่สำคัญเป็นสิ่งสำคัญ งานที่เร่งด่วนมักจะไม่สำคัญ แต่มีแนวโน้มที่จะผลักดันงานที่สำคัญจริง ๆ ออกไปจากจุดสนใจของท่าน นอกจากจะมีงานที่ด่วนจี๋หรืองาน ‘วิกฤต’ ที่จำเป็นจะได้รับความสนใจทันที ท่านไม่ควรใช้เวลากับงานเหล่านั้นมากเกินไป เนื่องจากว่าอาจเกิดอันตรายจากการที่งานสำคัญจะถูกผลักออกไป งานที่สำคัญคืองานที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ของท่านโดยตรง งานที่เร่งด่วนคือการที่มักถูกริเริ่มโดยผู้อื่น ดังนั้นท่านควรพยายามควบคุมระยะเวลาที่ท่านใช้กับงานประเภทนี้ นอกจากนั้น ท่านต้องพิจารณาลำดับงานที่ควรทำ หรือ จัดลำดับความสำคัญ ด้วย โดยต้องนำความเร่งด่วนและความสำคัญของงานมาพิจารณาประกอบ วิธีหนึ่งในการพิจารณาอยู่ในภาพด้านล่าง

  • ถ้างานมีความสำคัญและความเร่งด่วนมาก ท่านต้องทำให้เสร็จในทันที งานชิ้นนี้ไม่สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้และสอดคล้องกับความเชื่อของท่านว่างานนี้มีความสำคัญ
  • ถ้างานมีความสำคัญมาก แต่ไม่เร่งด่วน ท่านยังมีเวลาในการทำงานชิ้นนั้น ท่านสามารถมอบหมายงานในส่วนต่าง ๆ เพื่อริเริ่มกระบวนการทำงานได้ ระวังอย่าเลื่อนงานเหล่านี้ออกไปนานจนเกินไป พึงตระหนักว่างานเหล่านี้มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายโดยรวมของท่าน
  • ถ้างานมีความเร่งด่วนมาก แต่ไม่สำคัญ ท่านมีแนวทางในการจัดการได้สองวิธี วิธีแรกคือการจัดการทันที แต่อย่าใช้เวลากับมันมากเกินไป จงทำให้เสร็จอย่างรวดเร็ว อีกวิธีคือการมอบหมายงานให้ผู้อื่น
  • ถ้างานไม่สำคัญหรือไม่ได้เร่งด่วน โปรดถามตัวท่านเองว่ายังควรทำงานดังกล่าวอยู่อีกหรือไม่ งานเหล่านี้ควรถูกเก็บไว้ ละเว้น หรือมอบหมายให้แก่ผู้อื่น
image

การโจมตี

ขั้นตอนต่อไปในการจัดการเวลาของท่านคือการโจมตีสิ่งที่มาเบียดเบียนเวลาของท่าน ในที่นี้เราจะเรียกมันว่า ผู้ขโมยเวลา โดยจะมีผู้ขโมยเวลาอยู่สองประเภทที่ต้องโจมตี ผู้ขโมยเวลาประเภทแรกคือผู้ขโมยเวลาภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการรับแขกที่ไม่ได้นัดไว้หรือการสนทนาทางโทรศัพท์เป็นเวลานาน การประชุมที่ไม่ได้กำหนดวาระ ความขัดแย้งระหว่างบุคคล และการพูดคุยสัพเพเหระ ผู้ขโมยเวลาประเภทที่สองมาจากภายใน ซึ่งอาจประกอบด้วย การไม่สามารถปฏิเสธได้ การไม่ตัดสินใจ การผลัดวันประกันพรุ่ง การรู้สึกผิด การไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญหรือวางแผนได้ และทักษะการมอบหมายงานที่ไม่ดี ท่านอาจเคยเจอผู้ขโมยเวลาทั้งสองแบบ เราขอเสนอ 'คำแนะนำ' พื้นฐานเพื่อโจมตีผู้ขโมยเวลาไว้ ดังนี้

ผู้ขโมยเวลาที่ 1: การขาดความสามารถที่จะบอกว่า ‘ไม่’
  • จัดลำดับความสำคัญของการกระทำ
  • พูดว่า ‘ไม่’ หากสิ่งนั้นไม่สำคัญ 
  • พูดว่า ‘ไม่’ หากสิ่งนั้นไม่ใช่งานของท่าน
  • เริ่มต้นด้วยการพูดว่า ‘ไม่’ กับคำขอเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • ให้ถามว่า ‘ให้คนอื่นทำได้ไหม’


ผู้ขโมยเวลาที่ 2: ใช้เวลากับโทรศัพท์มากเกินไป
ท่านใช้เวลาคุยโทรศัพท์นานเพียงใด ท่านจำเป็นต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการสนทนา พวกเราส่วนใหญ่มักใช้เวลามากกว่าที่ควร ซึ่งอาจมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
  • การสนทนานานเกินไป
  • การมีส่วนร่วมในบทสนทนาที่ไม่ได้กำหนดหัวข้อไว้
  • การไม่สามารถที่จะยุติบทสนทนาได้
  • การรับโทรศัพท์ทุกสายที่เข้ามา


หากท่านใช้เวลากับโทรศัพท์มากเกินไป
  • แยกการพูดคุยสัพเพเหระออกจากบทสนทนาที่สำคัญ
  • เมื่อต้องหยิบหูโทรศัพท์ ให้วางแผนในสิ่งที่จะพูด
  • เรียนรู้ที่จะยุติบทสนทนา
  • คัดกรองการโทรศัพท์ของท่าน
  • ปิดโทรศัพท์มือถือ


ผู้ขโมยเวลาที่3: การมีแขกมาขัดจังหวะมากเกินไป
  • จำกัดช่วงเวลาที่เปิดให้คนเข้ามาพบ
  • แจ้งเวลาที่ว่างให้ผู้อื่นทราบ
  • จัดให้มีกระบวนการคัดกรองก่อนเข้าพบ
  • หลีกเลี่ยงที่จะทำให้แขกที่ไม่ต้องการรู้สึกเป็นที่ต้อนรับ
  • ควบคุมการขัดจังหวะ แต่ทำอยู่บนพื้นฐานของความสุภาพ


ผู้ขโมยเวลาที่ 4: การผลัดวันประกันพรุ่ง
การผัดวันประกันพรุ่งคือแนวโน้มที่จะเลื่อนสิ่งต่าง ๆ ออกไป หากท่านทำบ่อยเกินไป ในเวลาไม่นานท่านจะเผชิญกับสิ่งที่ต้องทำที่ยุ่งเหยิงเกินที่จะจัดการได้
  • ทำงานทีละเล็กน้อย
  • ทำภารกิจที่สำคัญก่อน
  • ลงมือทำทันที
  • เตือนตนเองถึงเป้าหมายอยู่เสมอ
  • กำหนดเส้นตายของแต่ละงานและยึดติดกับมัน


ผู้ขโมยเวลา
  • การขาดความสามารถที่จะบอกว่า ‘ไม่’
  • ใช้เวลากับโทรศัพท์มากเกินไป
  • การมีแขกมาขัดจังหวะ
  • การผลัดวันประกันพรุ่ง
  • การมีห้องทำงานที่ไร้ระเบียบ
  • การมีงานเอกสารมากเกินไป
  • การมีอีเมล์มากเกินไป
  • ความสมบูรณ์แบบ
  • ทักษะการสื่อสารที่ไม่ดี
  • ทักษะมอบหมายงานที่ไม่ดี
  • ทักษะ ‘การประชุม’ ที่ไม่ดี


ผู้ขโมยเวลาที่ 5: ห้องทำงานที่ไร้ระเบียบ ลองใช้แบบสอบถามด้านล่างเพื่อประเมินว่าห้องทำงานของท่านมีระเบียบหรือไม่

  • ท่านใช้เวลามากกว่าห้านาทีในการค้นหาสิ่งของบนโต๊ะทำงาน ใช่หรือไม่
  • ท่านมีปัญหากับการค้นหาสิ่งของบนโต๊ะทำงาน ใช่หรือไม่
  • ท่านมีเอกสารหลายกองวางอยู่บนโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน ใช่หรือไม่
  • ท่านมักจะอ่านและเก็บอีเมล์ขยะทั้งหมดที่ได้รับ ใช่หรือไม่
  • ท่านเคยต้องค้นหาเอกสารบนโต๊ะท่านและพบกับสิ่งที่ท่านลืม ใช่หรือไม่
  • ท่านพบว่ามันยากที่จะค้นหาเอกสารที่ต้องใช้จากตู้เก็บเอกสาร ใช่หรือไม่
  • ท่านต้องลุกจากโต๊ะทำงานทุกครั้งที่ต้องการบางสิ่งสำหรับงาน ใช่หรือไม่
  • ท่านมีเอกสารที่ค้างนานเกินหนึ่งสัปดาห์บนโต๊ะของท่าน ใช่หรือไม่
  • ท่านรู้สึกว่าทุกอย่างจะดีขึ้น หากท่านมีโต๊ะหรือห้องทำงานที่ใหญ่ขึ้น ใช่หรือไม่
  • ท่านเคยทิ้งเอกสารไว้บนโต๊ะโดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องจัดการภายในวันไหน ใช่หรือไม่


หากท่านมีห้องทำงานที่มีระเบียบ ท่านจะ
  • มีเพียงสิ่งที่ต้องใช้บนโต๊ะทำงานเท่านั้น
  • มีของใช้จำเป็นอยู่ในเอื้อมมือ
  • กำหนดตำแหน่งไว้สำหรับทุกสิ่ง
  • มีระบบจัดเก็บเอกสารที่ใช้การได้
  • ค้นหาสิ่งที่เหมาะกับตัวท่าน


ผู้ขโมยเวลาที่ 6: การมีงานเอกสารและอีเมล์มากเกินไป
หลายท่านใช้เวลาไปกับการทำงานเอกสารหรือการตอบอีเมล์มากเกินไป
  • จัดสรรเวลาในแต่ละวันเพื่อจัดการกับจดหมาย
  • จัดลำดับความสำคัญและหมวดหมู่ให้กับ ‘งานเอกสาร’
  • ไม่ควรเขียนตอบกลับหากไม่มีความจำเป็น
  • ใช้โทรศัพท์ทุกโอกาสที่ทำได้
  • จัดการกับเอกสารหรืออีเมล์แต่ละฉบับเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
  • สื่อสารด้วยวาจา
  • ในกรณีที่ท่านต้องเขียน จงเขียนด้วยความเรียบง่ายและตรงประเด็น


ผู้ขโมยเวลาที่ 7: ทักษะการสื่อสารที่ไม่ดี
ลองทบทวนวิธีการสื่อสารของท่าน
  • เลือกว่าสื่อใดเหมาะสมที่สุด
  • จับคู่ประเภทการสื่อสารกับความซับซ้อนของงาน
  • อย่า  ‘สื่อสารเกินความจำเป็น’
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเปิดให้มีช่องทางการสื่อสาร
  • ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย


ผู้ขโมยเวลาที่ 8: ความสมบูรณ์แบบ
ผู้ที่คลั่งความสมบูรณ์แบบคือผู้ที่ไม่เคยพอใจกับผลงานและความสำเร็จของตน ลองทำแบบประเมินด้านล่างเพื่อช่วยพิจารณาว่าท่านเป็นผู้ที่คลั่งความสมบูรณ์แบบหรือไม่ จงวงกลมตัวเลขที่อธิบายตัวท่านมากที่สุด (1: ฉันไม่ใช่คนแบบนี้; 2: ฉันเป็นคนแบบนี้ในบางครั้ง; 3: ฉันเป็นคนแบบนี้เลย):
รายละเอียด
ระดับ
ถ้าหากว่าฉันต้องการให้งานเสร็จ ฉันจะต้องลงมือทำเอง
1
2
3
ฉันตั้งความคาดหวังไว้สูงมากและไม่ยอมแพ้จะกว่าจะได้มัน
1
2
3
ฉันมักจะร่างอีเมล์เกินสามฉบับ
1
2
3
ฉันจะขยายกำหนดเวลาส่งหากฉันไม่พอใจกับงาน และฉันทำแบบนี้บ่อยครั้ง
1
2
3
ฉันมักติติงผู้อื่น ทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน
1
2
3
เมื่อฉันทวนงานของตัวเอง น้อยครั้งที่ฉันจะรู้สึกพอใจกับมัน
1
2
3
ฉันมักจะ ‘ติด’อยู่กับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ขณะทำงาน
1
2
3
ฉันกลัวที่จะทำงานพลาด – ฉันไม่ชอบผิดและผู้อื่นก็ไม่ชอบเหมือนกัน
1
2
3
ฉันไม่ชอบขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
1
2
3
ฉันไม่มอบหมายงานให้ผู้อื่นมากเกินไป เพราะสุดท้ายฉันต้องใช้เวลามาดูแลการทำงานเช่นเดิม
1
2
3
ถ้าฉันไม่มั่นใจว่าฉันทำได้จริง ๆ ฉันจะไม่ลงมือทำเลย
1
2
3


รวมคะแนนของท่านและกรอกลงในช่องด้านข้าง หากท่านมีคะแนนมากกว่า 24 คะแนน แสดงว่าท่านเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบมากเกินไป กล่างอีกนัยหนึ่งคือ ท่านกำลัง ‘ยึดติด’ กับการทำให้ทุกอย่างถูกต้องตลอดเวลา มีงานไม่กี่อย่างที่ออกมาตรงตามความคาดหวังของท่าน ท่านต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งนี้ มิฉะนั้นท่านอาจเสียเวลามากเกินไป
แนวทางในการควบคุมความสมบูรณ์แบบ
  • จัดลำดับความสำคัญของงาน
  • อย่าใช้เวลากับงานที่มีความสำคัญต่ำ
  • มองไปที่ ‘ภาพใหญ่’
  • อย่าฟุ้งซ่านกับเรื่องไม่สำคัญ
image

การจัดการ

ไม่ว่าจะมี 'เคล็ดลับ' ในการจัดการเวลามากเพียงใดก็ไร้ประโยชน์หากท่านไม่จัดการเวลาของท่าน นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ท่านจะหวนกลับไปยังนิสัยเดิมของท่านอย่างรวดเร็ว ในจุดนี้ ท่านควรตระหนักว่าท่านกำลังจะไปไหน (มีเป้าหมาย) วิเคราะห์ว่าปัจจุบันใช้เวลาไปกับอะไร จัดลำดับความสำคัญให้กับการกระทำ และเริ่มวางแผนเพื่อกำจัดสิ่งที่รบกวนต่อเวลา ดังนั้นตอนนี้ท่านต้องมั่นใจว่าจะมีแผน การวางแผนเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ โดยวิธีบางอย่างใช้ได้สำหรับบางคนเท่านั้น แต่อย่างน้อยท่านควรมีการวางแผนโดยใช้แพลนเนอร์รายปี และแพลนเนอร์รายสัปดาห์/รายวัน บางท่านอาจชอบใช้แพลนเนอร์ดิจิทัลในคอมพิวเตอร์ หรือแพลนเนอร์ที่มากับ Microsoft Outlook แต่บางท่านยังนิยมสมุดบันทึกที่เป็นกระดาษเช่นเดิม

สมุดแพลนเนอร์รายปี
หาท่านใช้แพลนเนอร์รายปีในรูปแบบของกระดาษ ให้พิจารณาบันทึกรายละเอียดดังต่อไปนี้ และอาจเป็นการดีถ้าใช้ระบบรหัสสีควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น ท่านอาจใช้จุดสีเขียวเพื่อระบุวันหยุดของท่าน หรือเป้าหมายที่ท่านตั้งตารอ หรือใช้ 'จุดเตือน' สีแดงเพื่อส่งสัญญาณเมื่อใกล้กำหนดส่งรายงานหรือการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นรายงานประจำปี หรือรายงานครึ่งปี หรือแม้กระทั่งแบบทดสอบเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ท่านสามารถลงวันประชุมที่จัดเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งการประชุมที่วางไว้ล่วงหน้าแล้ว การบันทึกวัน (และเวลา) ดังกล่าวจะช่วยให้ท่านประเมินได้ว่าท่านมีเวลาว่างมากน้อยเพียงใด ท่านอาจแปลกใจว่าเหลือเวลาน้อยเพียงใด แน่นอนว่าท่านจำเป็นต้องอัปเดตแพลนเนอร์เป็นประจำ และมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่อนุญาตให้ท่านใช้ระบบรหัสสีได้

สมุดแพลนเนอร์รายสัปดาห์/รายวัน
แพลนเนอร์รายสัปดาห์หรือรายวันจะช่วยให้ท่านมีระบบวางแผนงานที่ละเอียดมากขึ้น ท่านควรตัดสินใจว่าต้องทำอะไรในระหว่างสัปดาห์ และจัดลำดับความสำคัญของการกระทำของท่าน ก่อนที่ท่านจะดำเนินการเช่นนี้ ท่านควรถ่ายโอนข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาจากแพลนเนอร์รายปีก่อน ฉะนั้น เป็นไปได้ว่าตารางท่านอาจดูเต็มก่อนที่ท่านจะกำหนดกิจกรรมรายสัปดาห์ด้วยซ้ำ

ข้อสรุป

  • เริ่มต้นโครงการขนาดใหญ่ด้วยส่วนที่สำคัญที่สุด ส่วนมากไม่จำเป็นจะต้องทำส่วนที่เหลือ
  • พยายามผลักดันและยืนหยัดต่อไปในขณะที่ท่านอยู่ใน "ขาขึ้น"
  • จัดการแผ่นกระดาษหรืออีเมล์แต่ละชิ้นเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น
  • เคลียร์โต๊ะและวางของที่สำคัญที่สุดไว้ตรงกลาง
  • จัดหาที่สำหรับสิ่งของทุกสิ่ง
  • จัดสรรเวลาสามชั่วโมงต่อเดือนไว้เพื่อจัดการกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • ให้รางวัลพิเศษแก่ตัวเองเมื่อท่านลงมือทำสิ่งที่สำคัญ
  • ตระหนักไว้ว่าบางครั้งเวลาอยู่นอกเหนือการควบคุมของท่าน อย่าไปกังวลกับมัน
  • เขียนตอบกลับจดหมายทันทีที่ท่านได้รับ
  • ถามตัวเองอย่างต่อเนื่องว่า 'ตอนนี้สิ่งใดมีค่าสำหรับเวลาของฉันมากที่สุด'


ท่านอาจได้ยินประโยคนี้บ่อย ๆ แต่มันคือเรื่องจริง หากท่านไม่จัดการเวลา เวลาจะจัดการท่าน หากท่านเป็นเหมือนผู้นำระดับกลางทั่วไป ท่านอาจกำลังประสบกับความยากในการพยายามที่จะทำให้ทุกอย่างเข้าที่ ซึ่งส่งผลให้ท่านเครียดอย่างมาก ในจุดนี้ของอาชีพการงาน ท่านควรต้องคิดให้รอบคอบว่าท่านจะใช้เวลาอย่างไรและจะบริหารจัดการให้ดีขึ้นอย่างไร หากท่านสามารถพัฒนานิสัยการบริหารเวลาที่ 'ดี' ได้ตั้งแต่แรก นิสัยเหล่านั้นจะยิ่งถูกขัดเกลาเมื่อท่านมีประสบการณ์มากขึ้น การบริหารเวลาด้วยตัวเองจะไม่ได้ทำให้ท่านเป็นผู้นำที่ดีได้ด้วยตัวของมันเอง แต่จะช่วยให้ท่านมีโอกาสที่จะสนใจในสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับโรงเรียนหรือตัวท่านเองอย่างแท้จริง

การบริหารเวลา
  • ตัดสินใจเลือกสิ่งที่สำคัญสำหรับท่านจริง ๆ และจดบันทึกไว้
  • พึงตระหนักในพฤติกรรม นิสัย และวิธีการสื่อสารของท่าน
  • ระลึกว่าอะไรคือความรับผิดชอบในงานของท่าน และอะไรที่ท่านไม่ต้องรับผิดชอบ
  • ตรวจสอบว่าจริง ๆ แล้ว ท่านใช้เวลาอย่างไร
  • สังเกตให้ละเอียดว่าท่านใช้เวลาอย่างไร
  • จัดเรียงงานและการกระทำของท่านบนพื้นฐานของความสำคัญ
  • พิจารณาว่าท่านต้องใช้เวลาเท่าไรในการทำงานให้สำเร็จ
  • ระบุการกระทำที่ส่งผลให้ท่านเสียเวลา และพยายามลดการกระทำนั้นอย่างมีสติ
  • จัดเรียบและวางแผนเวลาของท่านตามความสำคัญ
  • ตรวจสอบการใช้เวลาของท่านอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์

รายการอ้างอิง

  • Hodgson, D., & Joan R. (2005). Stressed to kill. Australasian Business Intelligence. Retrieved from HighBeam Research: http://www.highbeam.com/doc/1G1‐130364975.html
  • Schank, R. C. (2000). Virtual learning: A revolutionary approach to building a highly skilled workforce. New York, NY: McGraw‐Hill.
  • Stott, K., & Walker, A. (1992). Making management work. Singapore: Prentice Hall.

คัดลอกลิงก์บทความเพื่อส่งต่อ